เชื่อว่าทุกคนต้องเคยประสบพบเจอ กับคำพูดแปลก ๆ ที่ฟังแล้วรู้สึกผิดจับใจ ทั้งที่เป็นคนถูกในเหตุการณ์นั้นด้วยซ้ำ ฟังแล้วงง ๆ ทำไมต้องเป็นตัวเราที่รู้สึกแย่ในคำพูดพวกนี้ด้วยนะ?? เหตุผลคืออะไรไม่รู้ แต่รู้ว่ามันเป็นคำพูดจิตวิทยาเชิงลบ Guilt Trip ที่ไม่สมควรไปพูดทำร้ายจิตใจคนอื่นอย่างยิ่ง~
Guilt Trip การพูดทำร้ายจิตใจให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่
Guilt Trip คืออะไร?
มันเป็นการใช้ความรู้สึกผิดของคนอื่น มาเป็นเครื่องมือกดดันให้ทำตามสิ่งที่เราต้องการ ผ่านคำพูดเชิงลบทำนองหวาน ๆ แต่พอฟังแล้วใจห่อเหี่ยวแบบสุด ๆ เช่น เพื่อนกันทำให้แค่นี้ไม่ได้หรอ, เราแย่มากเลยใช่ไหม...ทุกคนเลยไม่สนใจสิ่งที่เราเสนอ, เราไม่ไปก็ได้นะเดี๋ยวคนอื่นรู้สึกแย่ ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางด้านอารมณ์ ทำให้คนอื่นตามใจ เอนเอียงจากสิ่งที่เขาตั้งเป้าเอาไว้ตั้งแต่ทีแรก จาก "ความรู้สึกผิด"
.
Guilt Trip แบ่งได้เป็น 4 ประเภท
1.การบังคับ (Manipulation)
การบังคับสำหรับ Guilt Trip จะไม่ไปขอตรง ๆ ว่า "ทำให้หน่อย" แต่มันจะมาแบบอ้อม ๆ แต่ฟังคำพูดแล้วจะรู้ได้ทันทีเลยว่า เป็นการบังคับให้ทำตามอย่างแน่นอน รูปแบบคำพูดอาจจะมาในเชิงยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นไปแล้ว มากดดันให้ทำตาม เช่น ครั้งที่แล้วเราก็ไปกับเธอนะ...ครั้งนี้ไปกับเราได้ไหม, ตอนนั้นเราออกหน้ารับแทนแล้ว...ครั้งนี้ยังให้เรารับแทนอีกหรอ คำพูดพวกนี้ถือเป็นการบังคับให้อีกคนทำตามอย่างเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ
.
2.การเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา (Conflict Avoidance)
ต้องมีคนเคยเจอกับเหตุการณ์หนีปัญหาแบบ "อีหยังวะ" ในความสัมพันธ์ มันเป็นการเลี่ยงที่จะเคลียร์ปัญหาให้จบลง โดยใช้ "ข้ออ้าง" ขึ้นมาพูดตัดจบหนีปัญหาไปเลย เช่น วันนี้เราเหนื่อยแล้ว..ค่อยพูดกันวันหลังนะ, เรื่องนี้อีกแล้ว...ขี้เกียจพูดแล้วนะ, พอก่อนค่อยเคลีย..จะไปทำธุระ ทั้งที่ปัญหานั้นมันควรเคลียร์ให้จบ เพื่อรักษาความรู้สึกของอีกฝ่าย และให้ความชัดเจนในการแก้ปัญหาร่วมกัน
.
3.การสั่งสอนทางศีลธรรม (Moral Education)
ศีลธรรมมันจะเป็นยังไงขึ้นอยู่กับมุมมองของคนแต่ละคน แต่ก็มีคนเอามาใช้ผิด ๆ เป็นการกดดันให้เปลี่ยนความคิดมาอยู่ในมุมมองเดียวกัน เช่น งานเสร็จแล้วก็ควรหางานทำเพิ่มไม่ควรนั่งเฉย, เลิกงานต้องกลับพร้อมกันไม่ควรกลับก่อน, เราทำกันแบบนี้มานานมากแล้วไม่ควรเปลี่ยน ซึ่งมันเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก ๆ และสุ่มเสี่ยงต่อการทะเลาะเป็นเรื่องใหญ่โตที่สุด ในสังคมที่มีคนอายุต่างกัน
.
4.การทำให้อีกฝ่ายเห็นอกเห็นใจ (Elicit Sympathy)
การทำให้อีกคนเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องน่ากลัวมาก ๆ เพราะส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นมาจาก "การทำลายตัวเอง" เพื่อให้อีกคนรู้สึกผิดที่เป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องร้ายแบบนี้ขึ้น ซึ่งการทำร้ายตัวเองเพื่อให้อีกคนสนใจอาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลเลยก็ได้ แต่นี่เป็นการกระทำที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ จนกลายเป็น Toxic Relationship ไปเลยก็ได้
.
ฟังแล้วเริ่มรู้สึกว่าต้องหาวิธีรับมือด่วน ๆ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าใครเจอ Guilt Trip เข้าไปก็มีใจอ่อนฝืนใจทำอย่างแน่นอน เพราะคำว่า "ความสัมพันธ์" และ "มิตรภาพ" มันค้ำคออยู่ แต่ลองคิดในระยะยาวถ้าเจอคำพูดหักหาญน้ำใจไปเรื่อย ๆ สิ่งที่พยายามรักษาอาจจะแตกสลาย จนประกอบกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้เลยนะ เพราะฉะนั้นควรชั่งน้ำหนักในคำขอ ถ้าทำให้แล้วจะส่งผลเสียกับเราไหม หรือหาทางเปิดใจคุยกันเพื่อรักษามิตรภาพให้ยาวนานและมีอยู่จริง ไม่ใช่ให้เป็นแค่ชื่อถนนอีกต่อไป~
.
.
ขอบคุณข้อมูลจาก